วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Will I do it again?

เคยถามตัวเองไหม หลังจากใช้ชีวิตมายาวนานระยะหนึ่งว่า หากเราสามารถย้อนเวลากลับคืนสู่วันที่เราตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะยังคงกระทำเรื่องนั้นหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เราจะยังเลือกคณะวิชาที่เราเรียนจนจบไหม, จะยังปักหลักอยู่ที่ทำงานเดิมจนเกษียณไหม, จะยังแต่งงานกับใครคนหนึ่งซึ่งเราอยู่กินด้วยกันนานสามสิบปีไหม, จะยังใช้ชีวิตสไตล์ที่เราเคยชินนั้นไหม ฯลฯ

ฝรั่งใช้คำว่า “Will I do it again?”



คำถามนี้มีนัยว่า  เราเสียใจหรือรู้สึกว่าตัวเองคิดผิดต่อสิ่งที่เราได้กระทำมาหรือไม่

มันยังมีนัยของความพอใจ ความสมหวังในชีวิต ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะเรื่องที่กระทำสำเร็จบางเรื่องก็ไม่อยากทำใหม่ เช่น อยากเป็นนักข่าว แต่จับพลัดจับผลูกลายเป็นดาราหนังชื่อดัง ได้เงินได้ทองมากมาย แต่ไม่มีโอกาสเป็นนักข่าวสมใจฝัน

“Will I do it again?” ครอบคลุมทุกเรื่องในชีวิต ตั้งแต่การเล่าเรียน โรงเรียนที่เลือก สายวิชาที่เรียน อาชีพการงานที่ทำ บริษัทที่ปักหลัก การคบเพื่อน การแต่งงาน การมีลูก ไปจนถึงการเลือกสไตล์การใช้ชีวิต

หลังจากผ่านชีวิตถึงวัยกลางคน หากเราตอบว่า “I’ll do it again.” ก็แสดงว่าเราพอใจกับสิ่งที่เราทำมากถึงมากที่สุด หากเกิดใหม่ก็อยากแต่งงานกับคนคนนี้ไปอีกสักร้อยชาติ หากต้องเลือกทำงานอีก ก็จะทำสายทางเดิม กับเจ้านายคนเดิมนี่แหละ

หากเราตอบคำถามนี้ไม่ได้ หรือตอบว่า “I won’t do it again.” ก็บ่งว่าเราไม่พอใจกับสิ่งที่ได้ทำมา ไปจนถึงระดับผิดหวัง

อย่างไรก็ตาม บางคนตอบว่า “I won’t do it again.” ทั้งที่เขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ! และบางคนตอบว่า “I’ll do it again.” ทั้งที่ล้มเหลวจากสิ่งที่ทำ

วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ เป็นจิตรกรไส้แห้ง ไม่มีใครซื้อรูปที่เขาวาด แต่เขาก็ไม่ยอมเลิกวาดรูป

นักเขียนไม่น้อยทำงานแทบตาย ได้เงินไม่พอยาไส้ แต่ก็อยากทำอีก ทั้งที่ไม่ใช่พวกที่มีความสุขจากการทำร้ายตัวเอง หรือ masochist

บางคนเล่นกีฬาเสี่ยงภัย เช่นปีนเขา ดิ่งพสุธา ฯลฯ ประสบอุบัติเหตุเอาชีวิตแทบไม่รอด เมื่อหายดีแล้วก็บอกว่า “I’ll do it again.”

ความพอใจของคนเหล่านี้อยู่ที่การได้ทำ ไม่ใช่ความสำเร็จ

นี่คือความแตกต่างระหว่างความอยากทำแบบปกติ กับความอยากทำระดับ ‘ไม่ได้ทำขอตายดีกว่า’

“I’ll do it again.” กับ “I won’t do it again.” เป็นแค่ดัชนีวัด ‘ผลประกอบการ’ ในงานหนึ่งๆ เท่านั้น หากอ่านมันออก เราก็อาจ สร้างโอกาสปรับตัว ปรับปรุงชีวิต หรือปรับทิศทางเพื่อให้มีชีวิตที่ดีสมใจมากขึ้น


จุดที่น่าสนใจกว่าคือกรณีของคนที่ตอบว่า “ฉันจะไม่ทำอีก” ทั้งที่พวกเขาประสบความสำเร็จ มันแสดงทัศนคติของคนที่มองโลกอีกแบบหนึ่ง นั่นคือการอยากลองทางสายอื่นดูบ้าง

นาย ก. ประสบความสำเร็จในการงาน เป็นถึงประธานบริษัท รายได้มหาศาล มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับจากโลก แต่กระนั้นนาย ก. ก็คิดว่า ชาติหน้าหากเกิดใหม่จริง ก็อาจลองทำอย่างอื่นบ้าง ไม่อยากซ้ำรอยความสำเร็จเดิมๆ อีกหลายๆ ครั้ง

คนแบบนี้เห็นว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ จึงน่าลองทำหลายๆ เรื่อง เพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้หมดในชาติเดียว ดังนั้นสมมุติว่ามีชาติหน้า ก็อยากลองทำอย่างอื่นบ้าง พวกเขาเห็นว่าประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง จะเป็นไร เพราะชีวิตเป็นส่วนผสมของทั้งสองอย่าง แม้ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด เราก็อาจมีความสุขได้

ทัศนคติการใช้ชีวิตแบบนี้หลุดพ้นจากกรอบของความสำเร็จ-ความล้มเหลวไปทันที

พวกเขาเห็นว่า สิ่งที่สำคัญกว่าคำตอบ I’ll do it again. หรือ I won’t do it again. ก็คือการเรียนรู้จากบทเรียน ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว ทั้งจากวันดีและวันไม่ดี

คนเหล่านี้เปลี่ยนโจทย์จากการไปถึงจุดหมายเป็นการได้ออกเดินทางไปยังจุดหมาย ไหนๆ ก็เกิดมาในโครงสร้างชีวิตแบบคนแล้วก็ใช้ชีวิตแบบคนให้สุดๆ ไปเลย

หากชาติหน้าเกิดเป็นหมา ลิง ปลาดุก ก็จะใช้ชีวิตให้สุดๆ แบบหมา ลิง ปลาดุก

เพราะเกิดเป็นอะไรไม่สำคัญเท่าเกิดมาแล้วใช้ชีวิตให้เต็มเปี่ยมหรือเปล่า

ที่มา : http://winbookclub.com/article.php?articleid=377#377
_________________________________________________




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น