วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

iJOBS



ครั้งแรกที่ผมใกล้ชิดกับ สตีฟ จ็อบส์ ที่สุดน่าจะเป็นเมื่อผมเรียนหลักสูตรคอมพิวเตอร์ กราฟิก ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของนิวยอร์กทศวรรษที่ 1980 หรือยุคต้นของการเรียนคอมพิวเตอร์ กราฟิก เวลานั้นหลักสูตรเรียกว่า Microcomputer Graphics อุปกรณ์ที่เราใช้ในห้องเรียนเป็นกระป๋องโลหะเล็กๆ จอขนาดสักคืบกว่า เรียกว่า Apple IIe ขนาด RAM 64 KB จอแสดงได้แค่ 16 สี ขนาดความจุของ ‘กระป๋อง’ นี้น้อยกว่า 1 เม็กกะไบต์ หรือน้อยกว่าแท่งเก็บข้อมูลขนาดนิ้วก้อยในปัจจุบันหลายพันเท่า

ผมทำแอนิเมชั่นคอมพิวเตอร์ครั้งแรกก็ใน ‘กระป๋อง’ ตราแอปเปิลนี้ ออกแบบกราฟิกครั้งแรกก็ด้วย ‘กระป๋อง’ นี้ และรู้ภายหลังว่ามันเป็นผลงานร่วมชิ้นแรกๆ ของนายคนหนึ่งชื่อ สตีฟ จ็อบส์

นี่คือดักแด้ตัวแรกๆ ของ ‘แอปเปิล’ ซึ่งไม่กี่ปีต่อมาลอกคราบเป็นผีเสื้อ ‘แมคคินทอช’ เป็นหนึ่งในผลงานร่วมชิ้นแรกของ สตีฟ จ็อบส์

ชาวโลกพูดถึง สตีฟ จ็อบส์ ในแง่ของนักนวัตกรรม เป็น ธอมัส เอดิสัน ในยุคไอที เป็น วอลต์ ดิสนีย์ ช่างฝันแห่งโลกเสมือนจริง แต่บางทีสิ่งที่อาจน่าสนใจกว่าประดิษฐกรรมของเขาก็คือวิธีคิด

สตีฟ จ็อบส์ ไม่เคยเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้เรียน ห้องเรียนของเขาคือโลก ความฝันคือแรงขับเคลื่อนชีวิต ไม่มีขอบเขต ไม่มีขีดจำกัด

เขาเป็นพวกที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ (sceptics) ใช้สมองไตร่ตรองว่าสิ่งที่คนอื่นคิดและพูดมีเหตุผลหรือไม่

กฎทุกกฎ กติกาทุกกติกาในโลกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ จึงล้มล้างได้เสมอ

หากเขามองทุกสิ่งตามกติกาเดิมๆ ที่โลกใช้อยู่ โลกวันนี้ก็คงไม่มีคอมพิวเตอร์แมคคินทอช, ไอพอด, ไอแพด, ไอโฟน, ไอทูนส์  และอีกหลายๆ ‘ไอ’ (อักษร i แม้จะแทนคำว่า internet แต่ก็มีนัยของ individual ความเป็นตัวตนของตัวเอง)

เขายังเป็นมนุษย์สายพันธุ์ที่ทำงานด้วยยาก เพราะเขาไม่ยอมปล่อยอะไรที่ ‘ต่ำกว่ามาตรฐาน’ ความฝันของเขาออกไป เขาเป็นคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบถึงขั้นสุดทน!

ฝันแล้วหวดเฆี่ยนมันให้เป็นจริง ชนทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อให้มันเป็นจริง

สตีฟ จ็อบส์ กล่าวในสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในปี 2005 ว่า “เวลาของคุณมีจำกัด ดังนั้นอย่าเสียเวลาอาศัยอยู่ในโลกของคนอื่น อย่าไปติดกับในกฎกติกา — ซึ่งก็คือการใช้ชีวิตด้วยผลความคิดของคนอื่น อย่าปล่อยให้เสียงรบกวนของความเห็นของคนอื่นจมเสียงภายในของคุณเอง และที่สำคัญที่สุด จงมีความกล้าหาญที่จะเดินตามหัวใจและประสาทสัมผัสของคุณเอง สองอย่างนี้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่คุณต้องการจะเป็น ทุกสิ่งที่เหลือเป็นเรื่องรอง...”


จ็อบส์เล่าว่า เมื่อเขายังเป็นเด็ก มีสิ่งพิมพ์ชิ้นหนึ่งที่ยอดเยี่ยมมาก เรียกว่า The Whole Earth Catalog จัดว่าเป็นไบเบิลของรุ่นของเขาเลยทีเดียว เป็นงานของ Stewart Brand ผลิตมาแบบเก่าด้วยเครื่องพิมพ์ดีด กรรไกร กล้องโพลารอยด์ อาจพอเรียกว่าเป็น ‘กูเกิลฉบับกระดาษ’ ! เป็นงานอุดมคติ มีแนวคิดต่างๆ มากมาย

The Whole Earth Catalog ปรากฏโฉมอยู่หลายฉบับ ฉบับสุดท้ายในกลางทศวรรษ 1970 ขณะที่สตีฟยังเป็นหนุ่มน้อย ฉบับสุดท้ายเป็นรูปถ่ายถนนชนบทยามเช้าตรู่ ข้างล่างโปรยคำว่า ‘Stay Hungry. Stay Foolish.’ (จงหิวกระหายอยู่เสมอ จงทำตัวโง่อยู่เสมอ)

มันกลายเป็นคติประจำใจของจ็อบส์ตั้งแต่บัดนั้น

หิวกระหายความรู้ หิวกระหายความคิดใหม่ๆ

ทำตัวโง่เพราะรู้ว่าเรียนเท่าไรก็ไม่พอ เพื่อรับความรู้ใหม่ๆ เข้าหัวตลอดเวลา

หิวกระหาย ทำตัวโง่

หิวเพื่อให้อิ่มความรู้ โง่เพื่อให้ฉลาด

ฝันให้พ้นกรอบเดิม ฝันเพื่อสร้างทางสายใหม่

แล้วฝันให้พ้นทางสายใหม่ที่สร้างขึ้น


ที่มา : http://winbookclub.com/article.php?articleid=434#434

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น